วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

มารยาทในการรับประทานอาหาร


มารยาท 

        หมายถึง กิริยา วาจาที่สุภาพเรียบร้อย ที่บุคคลพึงปฏิบัติในสังคมโดยมีระเบียบแบบแผน อันเหมาะสมตามกาลเทศะ

มารยาทในการรับประทานอาหาร

        มารยาทในการรับประทานอาหาร เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ที่พบเห็นเกิดความเลื่อมใส หรืออาจตำหนิ ควรฝึกมารยาทในการรับประทานอาหารให้ถูกต้องเป็นที่ยอมรับของสังคม โดยปฏิบัติให้เป็นนิสัย เราสามารถใช้อาหารเป็นสื่อในการพบปะสังสรรค์ ดำเนินงานทางธุรกิจ หรือเข้าสังคมกับผู้อื่น การมีความรู้เกี่ยวกับมารยาทในการรับประทานอาหารตามหลักสากลจะช่วยให้ ปฏิบัติ ตัวได้อย่าง ถูกต้องเหมาะสม มารยาทนั้นมุ่งการประพฤติปฏิบัติ ให้เกิดขึ้นทางกาย และทาง วาจา ซึ่งเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ง่าย มารยาท และการวางตัวที่ เหมาะสม จึงเป็นปราการด่านแรกที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้ผ่าน การอบรมฝึกฝนตนมาดี มีคุณสมบัติของผู้ดีมีวัฒนธรรมอันเจริญ

1. อาหารแบบทั่วไป

-ถ้าไปในงานไม่ได้ ก็ควรแจ้งให้เจ้าภาพทราบล่วงหน้า เพื่อเจ้าภาพจะได้รู้จำนวนแขก
ที่มาในงาน แต่โดยทั่วไปควรจะบอกก่อนวันงานไม่ว่าจะไปได้หรือไม่ก็ตาม
-ตระเตรียมเครื่องแต่งตัวไปในงานให้พร้อม
-ควรจะไปก่อนงานเริ่มสัก ๑๐ นาที ไม่ควรไปเร็วหรือช้ากว่านั้น เพราะจะทำให้เจ้าภาพลำบากใจ
-ควรทักทายพบปะกับเจ้าภาพเมื่อไปถึงในงาน แม้เจ้าภาพจะยุ่งอยู่กับการต้อนรับคนอื่น เราก็ควรหาโอกาสไปทักทายในภายหลัง
-ควรพยามยามพูดคุยทักทายกับแขกคนอื่น ๆ ที่มาในงาน
แม้ไม่ใช่เพื่อนของเราถ้าถูกแนะนำให้รู้จักกับใครก็ควรจะ
พูดคุยกับคนนั้นหากไม่มีใครแนะนำก็ควรพูดคุยกับ
คนใกล้เราที่สุด
-เวลาที่นั่งโต๊ะ ควรให้แขกผู้ใหญ่นั่งก่อน แล้วเราค่อยนั่งตาม สามี ภรรยา ไม่ควรนั่งโต๊ะติดกัน
โดยสุภาพสตรีต้องนั่งทางขวาของสุภาพบุรุษ
-ก่อนนั่งโต๊ะควรงดสูบบุหรี่ แม้นั่งโต๊ะเรียบร้อยแล้วก็ไม่ควรสูบ เพราะมีสุภาพสตรีนั่งอยู่ข้าง ๆ
-นั่งโต๊ะต้องนั่งตัวตรง อย่านั่งพิงเก้าอี้ เอนหลัง
-หรือค่อมหลังจนตัวงอ อย่านั่งชิด หรือห่างจาก
เก้าอี้ หรือเอาเท้าวางบนเก้าอี้ เอาศอกวางบนโต๊ะ
-อย่าอ่านหนังสือใด ๆ บนโต๊ะอาหารนอกจากรายการอาหาร
-ผ้าเช็ดมือคลี่วางบนตัก
-อย่าเล่นช้อนส้อมหรือผ้าเช็ดมือ
-อย่ากางข้อศอกในเวลารับประทานอาหาร ศอกต้องแนบตัว
-ถ้ามีสิ่งใดตก ไม่ต้องเก็บ ควรแจ้งให้คนเสริฟทราบ
-เวลานั่งโต๊ะ คอยสังเกตให้ดีว่าอันไหนเป็นของเรา หรือเป็นของคนอื่น อย่าหยิบผิด
-เวลารับประทานอาหารอย่าจับหรือแต่งผม ผัดหน้า ทาปาก
-ช่วยเหลือเพื่อนร่วมโต๊ะตามสมควร
-อย่าเอื้อมหยิบของผ่านหน้าผู้อื่น แต่ถ้าเพื่อนร่วมโต๊ะส่งให้ ก็ควรขอบคุณในไมตรีจิตของเขา
-อย่าทำอะไรตกจากโต๊ะอาหาร แต่ถ้าตกแล้วก็ขอใหม่ อย่าเก็บของเก่า
-หากทำอะไรผิดก็ปล่อยเลยตามเลย ไม่ต้องแก้ตัว
-ดื่มน้ำด้วยมือขวา
-อย่าจิ้มฟันในขณะรับประทานอาหาร ถ้าจำเป็นควรใช้มือป้อง
-รับประทานอาหารเสร็จควรรวบช้อนส้อมไว้คู่กัน เขาจะได้รู้ว่าอิ่มแล้ว
-ลุกจากโต๊ะเมื่อคนอื่น ๆ อิ่มแล้ว

2.อาหารแบบตักเอง

-ไม่ควรตักก่อนที่เจ้าภาพจะเชิญ
-ไม่ควรตักอาหารจนล้นชามแล้วรับประทานไม่หมด
-ไม่ควรตักของหวานหรือผลไม้เกินกว่าที่ตนจะรับประทานได้
-เมื่อต้องการอาหารเพิ่มเติม ต้องใช้ช้อนกลาง ไม่ควรใช้ช้อนของตนตักอาหาร
-เมื่อตนตักอาหารชนิดใดแล้ว ต้องให้โอกาสคนอื่นเข้าได้ตักบ้าง ไม่ควรยืนปักหลักอยู่ที่โต๊ะ
-ไม่ควรลุกไปตักอาหารพร่ำเพรื่อจนเกินควร
-รับประทานอาหารที่ตักมาให้หมด ไม่ควรเหลือทิ้งไว้บนจานมาก
- เมื่อรับประทานอาหารเสร็จควรรวบช้อนส้อมเข้าคู่ด้วยกัน
-เมื่อจะกลับควรลาเจ้าภาพและกล่าวคำขอบคุณ

3.อาหารแบบยุโรป

3.1 อาหารยุโรปอย่างครบชุดและอุปกรณ์บนโต๊ะ  อาหารยุโรปเต็มชุดจะถูกนำมาเสิร์ฟทีละอย่าง ๆ ตามลำดับ ส่วนการทานนั้นก็จะทานทีละอย่าง ๆ ตามลำดับจนจบ
   ส่วนส้อมและมีดสำหรับรับประทานอาหารจะเปลี่ยนไปตามอาหารนั้น ๆ
แต่จะถูกวางไว้เป็นเซ็ทบนโต๊ะอาหาร
ลำดับของอาหารชนิดครบชุด    
ออเดิร์ฟ + ขนมปังจะเสิร์ฟกันในช่วงนี้ด้วย
ซุป    
อาหารจำพวกปลา    
อาหารจำพวกเนื้อ    
ไอศครีม    
อาหารจำพวกเนื้อ   
สลัดผัก 
ผลไม้    
กาแฟ

ปกรณ์บนโต๊ะอาหาร (TABLE SET) มีดังนี้
1. จานรอง                       11. ช้อนกาแฟ
2. ผ้าเช็ดปาก                  12. ส้อมสำหรับทานผลไม้
3. ช้อนซุป                       13. มีดหั่นผลไม้
4. มีดออเดิร์ฟ                 14. ช้อนไอศครีม
5. มีดหั่นปลา                  15. ที่ทาเนย
6. มีดหั่นเนื้อ                   16. มีดตัดเนย
7. ส้อมสำหรับทานเนื้อ 17. จานรองเนย
8. ส้อมสำหรับทานปลา 18. แก้วใส่น้ำเปล่า
9. ส้อมสำหรับออเดิร์ฟ 19. แก้วแชมเปญ
10. จานใส่ขนมปัง         20. แก้วใส่ไวน์แดง
21. แก้วใส่ไวน์ขาว

การใช้ผ้าเช็ดปาก ควรปฏิบัติดังนี้

-หยิบผ้าเช็ดปากคลี่แล้ววางบนตัก
-ใช้เพื่อซับอาหารที่ติดปาก ไม่ควรใช้เช็ดลิปสติกออก
-ถ้าผ้าตกระหว่างรับประทานอาหาร ให้พยายามหยิบโดยไม่รบกวน ผู้อื่น
-ถ้าไม่จำเป็นต้องลุกออกไปไหนชั่วขณะ ให้วางไว้ที่เก้าอี้
- ผ้าที่ใช้แล้วไม่ต้องพับ ถ้าเลิกรับประทานให้วางผ้าไว้บนโต๊ะด้านซ้ายมือ
การใช้ช้อน ส้อม มีด และแก้วน้ำ ควรปฏิบัติดังนี้
- ใช้ช้อน มีด ด้วยมือขวา ส้อมใช้มือซ้าย
-ให้นิ้วชี้อยู่ด้านบน  จับให้แน่น อย่าให้หลุดออกจากมือได้ ใช้ส้อม ตักอาหาร จิ้มอาหาร


การใช้ช้อน ส้อม มีด และแก้วน้ำ ควรปฏิบัติดังนี้

  -ใช้ช้อนตักซุปออกจากตัวและรับประทานด้านข้างช้อน

   -ตักซุปจากด้านใกล้ตัวออกด้านนอก 
  -ดื่ม (ทาน) เสร็จแล้ววางช้อนเอาไว้ในชาม
    -ไม่ใช้มีดตักหรือจิ้มอาหารเข้าปาก
    -แก้วน้ำให้หยิบด้านขวามือ
    -ช้อน ส้อม มีด เมื่อเลิกใช้แล้วอย่าวางบนโต๊ะ ให้วางบนจานรองหรือบนจานอาคารคาวแทน  

4. อาหารญี่ปุ่น

ข้าว  

-ไม่พุ้ยข้าวเข้าปากแบบคนจีน แต่คีบข้าวใส่ปากเป็นคำๆ ข้าวญี่ปุ่นเหนียวทำได้ ห้ามเท Soya sause ลงบนข้าวสุก ถ้าต้องการ ให้เทซอสลงถ้วยแบ่ง แล้วเอาข้าวไปจิ้มเป็นคำๆได้ ทานให้หมดอย่าให้เหลือ 
ซูชิ   

-ริน Soya sauce ลงในถ้วย ทานให้หมดอย่าให้เหลือ ถ้าไม่จำเป็นอย่าขอ วาซาบิ  wasabi เพิ่ม เพราะ Chef จะเดินเข้ามาถามว่าทำไมต้องเพิ่ม  ของเขาไม่อร่อยหรือ? ซูชิ ทำมาพอดีคำ ควรทานคำเดียวให้หมด กัดเป็น 2 คำ จะทำให้ความสวยงามหมดไป Chef จะมองหน้าอีก  
ซาชิมิ (Sashimi)

  -รินซอสลงข้างถ้วย อย่าเทเยอะ เดี๋ยวเชฟมอง ยังไม่พอแค่นี้ ต้องทานให้หมดด้วย
มิโซซุป  (Miso soup)  
-ยกถ้วยขึ้นซดได้เลย แล้วค่อยใช้ตะเกียบคีบของอย่างอื่น ที่เหลืออยู่ในถ้วยเข้าปาก คีบนะคะไม่ใช่เขี่ยหรือพุ้ยเข้าปาก  
ราเมน   (Noodles )

-ค่อยๆคีบเส้นเข้าปาก  ต้องมีเสียงสู้ด ดูดเส้นดังเข้าปาก   Slurring sound ถึงแสดงว่าอร่อย น้ำก๋วยเตี๋ยวยกซดได้เลย หรือใช้ช้อนกระเบื้องตักได้ 


ข้อห้ามในการใช้ตะเกียบตามมารยาทญี่ปุ่น
-Hashi-watashi คือเอาตะเกียบหยิบของกินแล้วส่งไปให้คนอื่น โดยคนที่ได้รับก็ใช้ตะเกียบรับของกินนั้น นี่เป็นข้อที่คนต่างชาติมักจะทำบ่อยโดยไม่ได้ตั้งใจ ตามวัฒนธรรมญี่ปุ่นแล้ว สิ่งที่หยิบด้วยตะเกียบและส่งต่อรับด้วยตะเกียบได้ ก็คือกระดูกของศพที่เผาแล้วในพิธีงานศพเท่านั้น เราจึงห้ามทำในการทานอาหาร
-ข้อห้ามที่เกี่ยวข้องกับงานศพญี่ปุ่น ก็จะมีอีกข้อหนึ่งคือ เอาตะเกียบเสียบให้ตั้งบนถ้วยข้าว เพราะอันนี้เป็นข้าวสำหรับคนที่เสียชีวิตแล้วนะค่ะ
-Mayoi-bashi คือถือตะเกียบแล้วส่ายไป ๆ มา ๆ บนอาหารหลายชนิดโดยตัดสินไม่ได้ว่าจะเอาอันไหนดี
-Sashi-bashi (1) คือเอาตะเกียบแทงของกิน Sashi-bashi (2) คือเอาตะเกียบชี้คน
-Saguri-bashi คือเอาตะเกียบคุ้ยหาชิ้นที่ต้องการในถ้วยอาหาร
-Yose-bashi คือเอาตะเกียบดึงหรือขนย้ายภาชนะอาหาร
5. อาหารจีน

-มารยาทในการรับประทานอาหารจีน สำหรับโต๊ะจีนที่ได้มาตรฐาน เครื่องใช้ในโต๊ะสำหรับแต่ละท่านจะประกอบด้วย ถ้วยซุปพร้อมจานรองและส้อม จานอาหารขนาดเล็กเฉพาะคน แก้วน้ำ ถ้วยชาพร้อมจานรอง ตะเกียบพร้อมหมอนตะเกียบและช้อนกลาง ซึ่งควรใช้เครื่องใช้ที่มีอยู่ให้ถูกต้อง เช่น ควรวางช้อนไว้ที่จานรองถ้วยซุป อย่าวางไว้ในถ้วยซุป ควรวางตะเกียบไว้บนหมอนรองตะเกียบอย่าวางพาดปากชาม
-การเข้านั่งโต๊ะอาหารจีน โดยปกติลักษณะของงานที่เป็นพิธีการจะคล้าย กับของแบบตะวันตก คือ มีการจัดทำผังที่นั่ง ซึ่งเจ้าภาพจะติดไว้หน้าห้องรับประทานอาหาร เพื่อให้แขกรับเชิญทุกท่านได้ทราบที่นั่งของตนล่วงหน้า และเมื่อถึงเวลาเข้าที่นั่ง เจ้าภาพจะเรียนเชิญแขกเกียรติยศเข้าที่นั่ง แขกรับเชิญอื่น ๆ ก็จะตามเข้าไป
-การกล่าวสุนทรพจน์หรือคำอวยพร เจ้าภาพจะเป็นผู้กล่าวก่อนเมื่อเริ่มรับประทานจานแรก เมื่อกล่าวจบก็จะเดินชนแก้วกับแขกเกียรติยศและแขกท่านอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ฝ่ายเดียวกับเจ้าภาพ หลังจากนั้นแขกเกียรติยศ ก็จะมีการกล่าวตอบและชนแก้วเช่นเดียวกัน การเดินชนแก้วนั้น ผู้ที่เดินจะเป็นเฉพาะเจ้าภาพและแขก เกียรติยศ เท่านั้น อนึ่ง การกล่าวสุนทรพจน์หรือคำอวยพรนี้ สามารถกล่าวในช่วงรับประทานของหวาน ได้เช่นเดียวกับของแบบตะวันตก 
มารยาทที่ควรปฏิบัติในโต๊ะจีน

-เจ้าภาพควรเสิร์ฟอาหารชิ้นแรกของแต่ละจานให้แขกเกียรติยศ โดยใช้ช้อนกลางหรือใช้ ตะเกียบของตนที่ยังไม่ใช้ หรือหากใช้ตะเกียบแล้วให้กลับเอาอีกด้านมาคีบให้
-เจ้าภาพควรเชิญชวนแขกดื่มบ้าง แต่อย่าบ่อยมากจนเกินไป ขณะเดียวกันแขกเกียรติยศก็สามารถเชิญชวนดื่มได้เช่นกัน
-หากอาหารที่เสิร์ฟมีบางประเภทที่ต้องใช้มือจับ บริกรจะนำชามแก้วใส่น้ำชาและมะนาว ฝาน หรือบางงานอาจโรยด้วยกลีบกุหลาบมาให้ เพื่อไว้สำหรับล้างมือ เช่น อาหารประเภทเป็ดปักกิ่ง หมูหัน วิธีล้าง คือ ให้ใช้ปลายนิ้วที่เปื้อนจุ่มลงล้างแล้วจากนั้นเช็ดให้แห้งด้วยผ้าเช็ดปาก แต่อย่าสะบัดมือเพราะน้ำจะกระเด็นถูกแขกท่านอื่น ๆ
-การสนทนาระหว่างกันในโต๊ะอาหาร ไม่ควรมุ่งไปในด้านธุรกิจหรือการงานจนเกินไป ต้องอาศัยความแนบเนียนในการเจรจา ควรให้มีบรรยากาศแบบมีอัธยาศัยไมตรีอันดีเป็นหลัก เมื่อเสร็จสิ้นงานเลี้ยง เจ้าภาพจะต้องเดินไปส่งแขกเกียรติยศให้ถึงรถ โดยเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกันอย่างจริงใจ
-การสนทนาระหว่างกันในโต๊ะอาหาร ไม่ควรมุ่งไปในด้านธุรกิจหรือการงานจนเกินไป ต้องอาศัยความแนบเนียนในการเจรจา ควรให้มีบรรยากาศแบบมีอัธยาศัยไมตรีอันดีเป็นหลัก
-เมื่อเสร็จสิ้นงานเลี้ยง เจ้าภาพจะต้องเดินไปส่งแขกเกียรติยศให้ถึงรถ โดยเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกันอย่างจริงใจ

สิ่งที่ห้ามปฏิบัติในโต๊ะจีน

-อย่าคายหรือทิ้งเศษอาหารบนโต๊ะหรือที่พื้น ให้ทิ้งในถ้วยหรือชามที่บริกรจัดไว้ให้หรือวางไว้ตรงขอบจาน
-อย่ากระแทกปลายตะเกียบบนโต๊ะจนมีเสียงดัง
-อย่าตัดอาหารจำพวกเส้นหมี่ในงานวันเกิด
-อย่ากลับปลาทั้งตัว เมื่อทานเนื้อด้านใดด้านหนึ่งหมด โดยเฉพาะเมื่อมีชาวเรือร่วมโต๊ะ
-อย่าดูดตะเกียบ 
มารยาทการรับประทานอาหารแบบสากล
งานสังคม หรืองานเลี้ยงอาหารในโอกาสต่าง ๆ เป็นสิ่งที่จะหลีกเลี่ยงเสียมิได้ ในชีวิตประจำวันของเรา ทั้งการเป็นแขกรับเชิญ และการเป็นเจ้าภาพ แบบธรรมเนียมปฏิบัติของแขกรับเชิญงานรับประทานอาหาร แต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกันบ้าง แต่โดยพื้นฐานแล้วมารยาทในโต๊ะอาหารมีมาตรฐานสากล เพื่อให้รับประทานอาหารได้สะดวกโดยไม่รบกวนหรือทำให้ผู้ร่วมโต๊ะคนอื่นต้อง ขัดเขิน ซึ่งมีแนวทางดังนี้
ก่อนเข้าโต๊ะอาหาร
- เจ้าภาพ จะทักทายกับแขกทุกท่าน และตรวจสอบยอดแขกรับเชิญ

- แขกจะได้ทักทายพูดคุยซึ่งกันและกัน และตรวจสอบที่นั่ง ณ โต๊ะอาหารจากผังที่นั่ง

- ท่านที่เป็นชายจะมีหน้าที่นำแขกสุภาพสตรีที่นั่งด้านขวาเข้าโต๊ะ ในกรณีนี้ควรจะหา โอกาสให้เจ้าภาพแนะนำท่านให้รู้จักกับสุภาพสตรีที่นั่งด้านขวาท่านหรือหา โอกาสเข้าไปแนะนำตนเองก่อน เข้าโต๊ะอาหาร

- ควรมางานเลี้ยงให้ตรงเวลาตามบัตรเชิญ หากเป็นงานเลี้ยงที่เป็นกันเอง การนำของฝากมาให้เจ้าภาพนับเป็นการแสดงออกที่ดี ของฝากอาจเป็นดอกไม้ ไวน์ ซ็อกโกแลต หรืออะไรก็ได้ที่ เหมาะสม ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินมาไม่ได้หรือมาช้า จะต้องโทรศัพท์แจ้งเจ้าภาพเพื่อให้เจ้าภาพได้แก้ปัญหาทันเวลา (เช่น เชิญทุกคนรับประทานอาหารตามเวลาแทนที่จะคอย)

 - เจ้าภาพ (ส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าภาพฝ่ายชาย) จะเชิญให้แขกดื่ม แขกจะเริ่มดื่มได้ในทันทีที่ได้รับแก้ว เมื่อบริกรเวียนมาบริการเครื่องดื่มเพิ่มเติม ท่านอาจรับหรือปฏิเสธก็ได้ตามความเหมาะสม เมื่อเจ้าภาพเชิญเข้าห้องรับประทานอาหาร ควรวางแก้วและเดินเข้าไปประจำเก้าอี้ตามผังการนั่ง ไม่ ควรนำเครื่องดื่มจากการเลี้ยงรับรองก่อนอาหารมาที่โต๊ะอาหาร
การเข้าโต๊ะอาหาร

- แขกรับเชิญไม่ควรจะนั่งจนกว่าเจ้าภาพฝ่ายหญิงและแขกผู้มีเกียรติจะนั่งแล้ว หรือเจ้าภาพฝ่ายชายเชิญให้นั่ง สุภาพบุรุษควรช่วยสุภาพสตรีด้านขวาเข้านั่งก่อนที่ตนจะเข้านั่ง

- ในการนั่งควรพยายามนั่งตัวตรงโดยวางมือบนตักหรือวางเบาๆ บนโต๊ะ แต่ไม่ควรวางข้อศอกบนโต๊ะ เพราะอาจเผลอกดโต๊ะพลิกได้ และยังทำให้ผู้อยู่ซ้ายและขวาของท่านพูดคุยกันไม่สะดวก

- เวลานั่งโต๊ะควรเลื่อนเก้าอี้ให้ตัวท่านชิดกับโต๊ะมากที่สุด เพื่อจะได้ไม่ต้องก้ม การนั่งควรนั่งหลังตรง เวลารับประทานอาหารอาจโน้มตัวมาเหนือจานเล็กน้อย

- เมื่อนั่งแล้วควรหยิบผ้าเช็ดปากที่อยู่ด้านซ้ายหรือตรงกลางมาคลี่พาดบน หน้าตักโดยรอปฏิบัติหลังเจ้าภาพ ปกติผ้าเช็ดปากจะวางด้านซ้ายในงานไม่เป็นทางการและจะวางตรงกลางสำหรับงาน เป็นทางการ ในสังคมตะวันตกมักจะมีการกล่าวขอบคุณพระเจ้าก่อนรับประทานอาหาร การคลี่ผ้าเช็ดปากจึงควรรอจังหวะโดยดูเจ้าภาพเป็นหลัก

- หลังจากกล่าวขอบคุณพระเจ้าแล้ว ควรคลี่ผ้าเช็ดปากโดยให้อยู่ในสภาพพับครึ่งและวางขวางบนตัก จะไม่ใช้เหน็บกับเอวหรือคอเสื้อ (วิธีเช็ดปาก : คลี่มุมผ้าแยกออกจากกันพอสมควรแล้วซับที่ริมฝีปาก ใช้แล้ว พับกลับอย่างเดิมวางไว้บนตัก ผู้นั่งใกล้เคียงจะไม่เห็นรอยเปื้อนที่เราเช็ด เพราะรอยเปื้อนจะอยู่ด้านในของผ้า เช็ดปาก) ถ้าจำเป็นต้องไอหรือจาม ให้ใช้ผ้าเช็ดปากปิดปากหรือจมูก และหันหน้าออกจากโต๊ะอาหารก่อนไอ หรือจาม อย่าสั่งน้ำมูก ขากเสลด หรือถ่มน้ำลาย ลงผ้าเช็ดปาก

- หลังการรับประทานอาหารเสร็จสิ้น ถ้าเป็นภัตตาคารให้วางผ้าเช็ดปากบนโต๊ะโดยไม่ต้องพับ ถ้าเป็น บ้านเจ้าภาพ ให้พับสี่และวางบนโต๊ะ ซึ่งถือว่าสิ้นสุดการรับประทานอาหารด้วย อย่างไรก็ตามห้ามม้วนผ้าเช็ด ปากเป็นก้อนหรือขยำไว้บนโต๊ะ
อุปกรณ์ในการรับประทานอาหาร

          อุปกรณ์ในการรับประทานอาหารตะวันตก จะใช้ ส้อมและมีด เป็นหลัก ซึ่งมักจะเรียกว่าเครื่องเงิน (Silverware หรือ Flatware) เพราะเดิมจะทำจากเงิน sterling เครื่องเงินหรือช้อนส้อมมีด จะจัดวางตามลำดับการใช้งาน คือ ตามรายการอาหารที่จะเสิร์ฟ ถ้าอาหารมีหลายรายการ เครื่องเงินย่อมมีมากจนอาจมองดูแล้วน่าสับสน แต่โดยหลักการแล้วจะมีมีด ไม่เกิน 3 เล่ม และส้อมไม่เกิน 3 คัน ไม่ว่าจะเป็นงานเป็นทางการระดับใดก็ตาม ซึ่งถ้าจำเป็นต้องใช้มากกว่านั้น บริกรจะนำมาเพิ่มเติมตามความจำเป็นพร้อมกับอาหารนั้นๆ

1. เลือกใช้จากด้านนอกสุดของจานเข้าหาด้านใน (ทั้งซ้ายและขวา) นั่นคือสิ่งแรกที่ท่านต้องใช้คือ ช้อนคันนอกสุดจากด้านขวา หรือส้อมคันนอกสุดจากด้านซ้ายร่วมกับมีดเล่มนอกสุดจากด้านขวา

2. มีดและช้อน จะอยู่ด้านขวาของจาน และส้อมอยู่ด้านซ้าย ช้อนส้อมสำหรับของหวานจะวาง ถัดไปทางด้านบนของจาน ซึ่งจะ ใช้เป็นอันดับท้ายสุด

3. เครื่องเงินควรใช้นำอาหารเข้าปาก ไม่ใช่ก้มปากมารับอาหาร อย่าแกว่งมีดส้อมประกอบการ สนทนา หากต้องใช้มือประกอบท่าทางในการสนทนาควรวางช้อนส้อมเสียก่อน หากสงสัยถึงความเหมาะสม ในการใช้เครื่องเงินขอให้ประวิงเวลาและดูจากเจ้าภาพเป็นหลัก

ลำดับการเสิร์ฟอาหาร

โดยทั่วไป จะเป็นตามขั้นตอน คือ ขนมปังและเนย ซุป สลัด อาหารจานหลัก ของหวาน ชา/กาแฟ
ขนมปังและเนย

         จานขนมปังจะอยู่ด้านซ้ายของผู้นั่งและบนจานจะมีมีดเนยรูปทรงแบบปลายมน ใช้สำหรับตักเนยใน จานเพื่อทาขนมปังแต่ละชิ้นก่อนรับประทาน บริกรจะเสิร์ฟขนมปังรายบุคคลหรือวางตะกร้าขนมปังบนโต๊ะ ในกรณีที่เสิร์ฟรายบุคคล บริกรจะนำตะกร้ามาบริการทางซ้าย ท่านจะชี้หรือระบุว่าต้องการขนมปังใด (ถ้ามีให้ เลือก) ซึ่งบริกรจะตักวางบนจานขนมปังของท่าน ถ้าเป็นตะกร้าขนมปังให้ใช้ที่คีบหรือมือหยิบขนมปังที่ ต้องการวางบนจานขนมปังของท่าน พึงหลีกเลี่ยงการบีบหรือคลำขนมปังในตะกร้า (เพื่อตรวจสอบความนิ่ม หรือแข็ง) ชิ้นใดที่จับแล้วควรหยิบมารับประทาน การตักเนยจากเนยจานกลาง (นอกจากในกรณีที่ท่านเลือก GARLIC BREAD ซึ่งทาเนยและกระเทียมพร้อมแล้ว) ท่านจะต้องตักเนยจากเนยจานกลาง โดยทั่วไปเนยจานกลางจะจัดเป็นเนยก้อนๆ รูปสี่เหลี่ยม, เปลือกหอย ฯลฯ และมีมีดเนยกลางอยู่ ท่านจะใช้มีดเนยกลางตักเนยมาวางบนจานขนมปังของท่านก่อน หลังจากนั้นจึงจะใช้มีดเนยตนเองทาเนยบนขนมปัง อย่าตักเนยจากจานเนยกลางมาทาขนมปังโดยตรง มารยาทในการรับประทานขนมปังกับเนยคือ ทานเป็นคำ ดังนั้นท่านจะต้องฉีกขนมปังเป็นชิ้นพอดีคำก่อนและจึงทาเนยก่อนรับประทาน อย่ารับประทานโดยการกัดขนมปังนั้น โดยมารยาททั่วไปไม่ควรนำขนมปังมาเช็ดน้ำเกรวี่หรือน้ำซ้อสในจานอาหารหลัก (ENTREE) แต่ในบางประเทศ เช่น อิตาลี การนำขนมปังมาเช็ดซ้อส ถือว่าเป็นการให้เกียรติ แสดงความอร่อยจนหยุดสุดท้ายของน้ำซ้อส (พ่อครัวอาจออกมากอดท่านขอบคุณในการให้เกียรติอย่างสูง)
ซุป

          เมื่อบริกรเสิร์ฟซุปแล้ว จะต้องรีบรับประทาน เพราะซุปจะเย็น และในการเสิร์ฟอาหารเป็นคอร์สนั้น บริกรจะรอแขกคนสุดท้ายรับประทานอาหารคอร์สนั้นๆ เสร็จแล้วจึงยกออก พึงหลีกเลี่ยงการ บิขนมปังจากจานขนมปังลงในซุป สำหรับซุปที่ควรมีขนมปังบิใส่ เช่น CLAM CHOWDER จะมีบริการขนมปังพิเศษเหมาะแก่การใส่ลงในซุปโดยบริกร หรือมีการจัดวางมาเป็นเครื่องเคียงซุปในจานรองซุปให้

         โดยทั่วไปผู้รับเชิญจะต้องรอจนอาหารแต่ละคอร์สได้วางตรงหน้าทุกคน และเจ้าภาพเชิญให้เริ่มรับประทานจึงจะรับประทาน แต่ในงานเลี้ยงใหญ่ เจ้าภาพฝ่ายหญิงอาจเชิญให้รับประทานทันทีที่ได้รับเสิร์ฟเพื่ออาหารจะได้ไม่ เย็น ในกรณีนั้นควรรอให้พร้อมรับประทาน 3-4 คน ก่อน จึงเริ่มรับประทาน

         ซุบบางประเภท เช่น ซุปใส (CONSOMME) ที่เสิร์ฟในถ้วยมีหูสองข้าง สามารถจับหูทั้งสองยก รับประทานได้ นอกนั้นควรใช้ช้อนซุปในการรับประทาน ถ้าซุปเสิร์ฟในจานใหญ่ ให้วางช้อนไว้ในจานเมื่ออิ่มแล้วถ้าเสิร์ฟในถ้วยให้วางช้อนในจานรอง
สลัด

        โดยส่วนมากแล้วสลัดผักในงานเลี้ยงรับประทานอาหารค่ำอย่างเป็นพิธีการ จะจัดมาแล้วทั้งชุด สลัด DRESSING และเนื้อ (ปู,ปลา,ไก่,กุ้ง,เนื้อ ฯลฯ) หากไม่นิยมหรือไม่ถูกกับประเภทเนื้ออาจเลือก รับประทานเฉพาะผัก และเหลือส่วนที่รับประทานไม่ได้ไว้ในจาน (ในบางวัฒนธรรม เช่น ฝรั่งเศส อาจนิยมสลับเสิร์ฟสลัดหลังอาหารหลัก) 
อาหารหลัก

         หลังจากบริกรเก็บจานสลัดเรียบร้อยแล้ว จะทำการเสิร์ฟอาหารหลักซึ่งการเสิร์ฟอาจเสิร์ฟเป็นจาน (PLATE) หรือเสิร์ฟแบบจานเปล (PLATTER) ในการเสิร์ฟเป็นจานจะเสิร์ฟเป็นรายบุคคล โดยบริกรจะยก เสิร์ฟเข้าด้านซ้าย เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็เริ่มรับประทานได้ ในกรณีหลังเช่น การเสิร์ฟปลา บริกรจะนำจานเปลอาหารใช้เลือกรับประทานโดยเข้าทางด้านซ้าย แขกจะใช้ช้อนและส้อมใหญ่ในจาน เปลนั้น นำอาหารจากจานเปลมาไว้ที่จานตนเอง โดยทั่วไปอาหารจะหั่นเป็นชิ้นมาเรียบร้อยแล้วในจานเปล แต่ ถ้าไม่ได้หั่นก็สามารถใช้ช้อนใหญ่หั่นได้ สำหรับจานเปลที่เสิร์ฟอาหารประเภทผัก ช้อนตัก จะมีร่องเพื่อไม่ให้ส่วนประกอบที่เป็นของเหลวหยดเปรอะเปื้อนตอนตักใส่จาน การจับช้อนและส้อมเสิร์ฟนั้น

         ในกรณีที่อาหารหลักเป็นปลา มีดที่เจ้าภาพจัดให้จะเป็นมีดปลา ซึ่งมีปลายมนไม่มีสันคมเหมาะแก่การ เลาะก้างปลาและรับประทานปลา ซึ่งจะวางถัดจากมีดสลัดเข้ามา

การเติมอาหารครั้งที่สอง

         เคยมีกฎว่าในการเลี้ยงอาหารแบบนั่งโต๊ะจะไม่มีการเติมครั้งที่สอง แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปตามลักษณะ และปริมาณของอาหาร มีเจ้าภาพจำนวนมากที่เสนออาหารให้เติมครั้งที่สอง เมื่อแขกได้รับการเสนอ ไม่ควรอายที่จะตอบรับ เพราะแสดงถึงความเอร็ดอร่อยของอาหารซึ่งถือเป็นการเยินยอเจ้าภาพ (โดยเฉพาะถ้าเจ้าภาพ ทำอาหารเอง) แต่หากอิ่มสามารถปฏิเสธได้ตามสบาย  เมื่อรับประทานอาหารจานหลักเรียบร้อยแล้ว ให้รวบส้อมและมีดโดยหันคมมีดไปทางซ้าย ส้อมหงายขึ้น และวางเป็นแนวดิ่งกึ่งกลางของจาน บริกรจะเก็บจานจากทางขวาของผู้นั่ง
กาแฟ

       ในการเสิร์ฟกาแฟ บริกรจะนำชาและกาแฟมาเสิร์ฟ โดยกาแฟจะอยู่ในภาชนะเงินขัดมันทรงสูง (ถ้าเป็นชาจะอยู่ในภาชนะทรงป้อม) การเติมน้ำตาลหรือครีมพึงใช้อุปกรณ์ที่จัดไว้นั้นคือใช้ปากคีบน้ำตามหรือ ช้อนน้ำตาลตักน้ำตาลและเทครีมใส่ถ้วยจากภาชนะเสิร์ฟ การคนกาแฟ ให้ใช้ช้อนชาของตนเอง ห้ามใช้ช้อนชาตักกาแฟมาชิม เมื่อคนเสร็จแล้วให้วางช้อนชาลงบนจานรอง อย่าทิ้งไว้ในถ้วย การดื่มให้ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือจับที่หูถ้วย และยกขึ้นดื่ม โดยระวังไม่ให้มีเสียงดัง หากร้อนเกินไปให้คอย อย่าเป่า (โดยปกติเจ้าภาพจะไม่เสิร์ฟชาหลังอาหารค่ำ ยกเว้นจะได้รับการร้องขอจากแขกเป็นกรณีพิเศษ)

อาหารอื่นนอกจากอาหารหลัก

        ธรรมเนียมแบบ ฝรั่งเศส เจ้าภาพจะจัดให้เสิร์ฟสลัดผักอยู่หลังอาหารจานหลัก นอกจากนั้นแล้วยังมีอาหารอีก 2-3 คอร์สที่ท่านอาจจะพบในงานเลี้ยง แบบตะวันตก คือ
- Hors d’oeuvre ก็คืออาหารเรียกน้ำย่อย หรือใน MENU บางร้านอาหารเรียกว่า APPETIZER โดยทั่วไป แล้วจะเป็นอาหารจานไม่ใหญ่ และมักจะอร่อยเป็นพิเศษเพื่อเรียกน้ำย่อย เช่น SHRIMP COCKTAIL, SMOKED SALMON, OYSTERS หรือ CLAM สด 
- Sorbet หรือ Sherbet เป็นไอสกรีมผลไม้ ไม่ใส่นมหรือครีม บางครั้งปรุงรสด้วยสุรา โดยทั่วไปมักจะเสิร์ฟเป็นก้อนเล็กๆ ในถ้วยไอศกรีมก่อนอาหารจานหลัก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคั่นระหว่างอาหารคอร์สต่อ ไปที่จะเสิร์ฟ ให้กระเพาะได้พักผ่อนเล็กน้อย และเพื่อให้มีโอกาสพูดคุยระหว่างรับประทานอาหาร
- เนยแข็ง หรือ cheese board จะประกอบด้วยเนยแข็งหลายๆ ประเภท โดยบริกรจะนำมาเสิร์ฟเพื่อให้ ผู้รับประทานเลือก เมื่อเลือกแล้วพนักงานจะตัดเนยแข็งเสิร์ฟพร้อมขนมปัง อาจเสิร์ฟก่อนผลไม้หรือหลังของ หวานขึ้นอยู่กับความประสงค์ของเจ้าภาพ
การกล่าว TOAST

         คำว่า TOAST นั้นมีประวัติอันยาวนานตั้งแต่อดีต ซึ่งในสมัยก่อนนั้นมีการนำขนมปังปิ้ง (TOAST) ใส่ลงในแก้ว BEER หรือเหล้า เมื่อขนมปังเปียกชิ้นขนมปังก็จะจมลงสู่ก้นถ้วย ถ้าในโต๊ะอาหารมีบุคคลใดท้าทาย “TOAST” ความหมายก็คือ เชิญชวนท้าทายดื่มจนหมดแก้วจนถึงชิ้น TOAST

        ในธรรมเนียมปัจจุบัน การดื่ม TOAST จะไม่นิยมดื่มจนหมดแก้ว จะนิยมดื่ม CHAMPAGNE หรือ WINE ในแก้วเพียง 1-2 จิบ (CHAMPAGNE หรือ WHITE WINE เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในการ TOAST ซึ่งกัน และกัน) การที่ดื่ม แต่น้อยก็เพราะการ TOAST มักจะมีต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ครั้ง คือจากการเชิญชวนของ เจ้าภาพ (เจ้าภาพจะเป็นคนกล่าว TOAST แขกเสมอตามธรรมเนียม) และจากการเชิญชวนของแขกผู้ได้รับเกียรติ

        การไม่ดื่ม TOAST ถือว่าผิดมารยาทเป็นอย่างยิ่ง ถ้าไม่ดื่มแอลกอฮอล์ สามารถยกแก้วขึ้นแตะ ริมฝีปากพอเป็นพิธีได้

        ถ้าท่านเป็นผู้รับเกียรติในการ TOAST ท่านจะยังคงนั่งในโต๊ะอาหาร บุคคลอื่นที่ดื่มให้แก่ท่าน จะลุกขึ้นยืนให้เกียรติถ้าบุคคลที่ TOAST ให้ท่านซึ่งเป็นผู้ที่มีอาวุโสสูงหรือมีเกียรติยศสูง ท่านอาจจะยืนรับการTOAST แต่ท่านจะไม่ดื่มด้วยเพราะจะเป็นการดื่มให้แก่ตนเอง หลังจากทุกคนที่ดื่มให้แก่ท่านได้นั่งลงแล้ว ท่านอาจยืนและกล่าวขอบคุณพร้อมกับ TOAST ตอบแทนได้ ในกรณีท่านเป็นสุภาพสตรี ท่านอาจใช้วิธีกล่าว TOAST ตอบแทน หรือแค่ยกแก้ว และรับยิ้มรับทราบให้แก่ผู้ให้เกียรติท่านเป็นเชิงขอบคุณ

       โดยทั่วไปการกล่าว TOAST จะกล่าวหลังรับประทานอาหาร อาจเป็นระหว่างหรือหลังรับประทานของหวานก็ได้ คำ TOAST ต่างประเทศ ที่ง่ายที่สุดและนิยมใช้คือ TO YOUR HEALTH


การอำลา

      ปกติแขกจะลากลับจากการเลี้ยงอาหารค่ำแบบนั่งโต๊ะตามเวลาในบัตรเชิญ หรือเวลาในกำหนดการที่พิมพ์ไว้ใน MENU รับประทานอาหารค่ำ ในกรณีที่ไม่กำหนดเวลาเสร็จสิ้นงานรับประทานอาหาร แขกควรเริ่มอำลาเจ้าภาพได้หลังจากลุกจากโต๊ะอาหารมารับประทานเครื่องดื่ม หลังอาหารประมาณ 15 - 30 นาที สำหรับในงานเลี้ยงอาหารค่ำอย่างเป็นทางการ เจ้าภาพอาจมีเทคนิคในการแสดงนัยของการจบงานเพื่อให้แขกลากลับได้ ด้วยการส่งสัญญาณให้ดนตรีหยุดแสดงหรือเปิดไฟสว่างขึ้นหรือมีพิธีกรกล่าวปิด งาน เป็นต้น

การขอบคุณ

         นอกจากขอบคุณเจ้าภาพตอนลากลับแล้ว แขกควรเขียนจดหมายขอบคุณ ที่เหมาะสมคือส่งให้ใน วันถัดไป (อนุโลมภายใน 1 อาทิตย์) ในจดหมายควรแสดงความขอบคุณในการต้อนรับ และ ให้เอ่ยถึงจุดหนึ่งหรือสองจุดในงานเลี้ยงที่แขกพึงพอใจมากเป็นพิเศษ

         ในงานเลี้ยงหากมีวงดนตรีหรือการจัดแสดงเป็นพิเศษ แขกเกียรติยศควรหาโอกาสเดินไปกล่าวขอบคุณหัวหน้าวงดนตรี หรือหัวหน้านักแสดงด้วย จังหวะที่ เหมาะสมคือก่อนจะอำลาเจ้าภาพเพื่อกลับ หรือเมื่อนักดนตรี/นักแสดงกล่าวอำลาเมื่อจบการแสดง
มารยาทการรับประทานอาหารล้านนา

           ชาวล้านาเรียกการรับประทานอาหารโดยทั่วไปเรียกว่า กิ๋นเข้า คือกินข้าว มีการรับประทานอาหารโดยแบบแผนดั้งนี้
           อาหารมื้อหลัก คือ เข้านึ่ง หรือข้าวนึ่ง และกับข้าวเรียกว่า ของกิ๋น เช่น น้ำพริก ลาบ ส้า ยำ ตำ ปิ้ง ต้ม นึ่ง เป็นต้น แต่ที่นิยมคือ น้ำพริกและแกง
โดยรับประทานอาหาร 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น สถานที่รับประทาน ตั้งแต่โบราณในบ้านจะมีชานเรือน โดยจะนั่งล้อมวงกันรับประทานอาหาร(เติ๋นบ้าน) ปัจจุบันบางครัวเรือนอาจจะทำห้องรับประทานอาหาร และรับประทานอาหารบนโต๊ะ 
อุปกรณ์ในการรับประทานอาหาร โดยทั่วไปมีอุปกรณ์ดังนี้

- ขันโตก หรือสะโตก เป็นภาชนะสำหรับวางอาหารในขณะรับประทานอาหารเพื่อให้อาหารนั้นอยู่ใน
ระดับสูงกว่าพื้น ทำด้วยไม้หรือหวาย มีหลายขนาด ถือเป็นของใช้ประจำครัวเรือนอย่างหนึ่ง
- ถ้วยแกง เป็นถ้วยก้นลึก อาหารประเภทมีน้ำแกงจะใช้ภาชนะนี้
- ถ้วยแบน หรือจาน/ชาม มีลักษณะแบน อาหารประเภททอด ปิ้ง คั่วหรือผัด มักจะตักใส่ ภาชนะนี้
- ช้อน ในสมัยโบราณไม่มีใช้ ต้องแต่งกะลามะพร้าวให้ขึ้นรูปเป็นช้อน หรือทำจากข้อไม้ไผ่ ใช้สำหรับตักน้ำแกงซด หรือเขี่ยอาหารในน้ำแกงให้ขึ้นมาข้างบน เพื่อจะได้หยิบรับประทานได้ง่าย ไม่ต้องควานหาในน้ำแกง ในยุคก่อนแต่ละบ้านจะมีช้อนจำนวนจำกัด บางครั้งในขันโตกนั้นจะมีช้อนเพียงคันเดียว คนที่ร่วมวงต้องผลัดกันซดจึงจะได้
- กล่องข้าว ในสมัยก่อนนิยมทำมาจากไม้ไผ่หรือใบตาลสาน บุข้างในด้วยกาบหมากหรือกาบไม้ไผ่ เพื่อกันความชื้นแฉะและรักษาความร้อน ปัจจุบันมักพบใช้กระติกน้ำแข็งบุด้วยผ้าขาวบาง เพราะสามารถเก็บความร้อนได้นานกว่า ในแต่ละครอบครัวจะมีจำนวนกล่องข้าวขึ้นอยู่กับจำนวนคนใน ครัวเรือนแต่มักมี ๑-๓ กล่อง และจะใช้ ๒ คนต่อหนึ่งกล่อง หรือหากมีคนจำนวนมาก อาจจะฅดเข้าหรือนำข้าวจากกล่องใส่จานเพิ่ม ขึ้นอีก 
ลักษณะการจัดวางอาหาร อาหารทุกอย่างจะวางไว้บนขันโตก อาหารประเภทแกงอาจตัก ๒ ชาม ทั้งนี้แล้วแต่จำนวนคน จำนวนอาหารบนขันโตก และความเหมาะสม ถ้าเป็นอาหารประเภทน้ำพริก ยำ ลาบ ส้า ซึ่งมีผักกับคือผักจิ้มด้วย ก็จะเอาผักจิ้มใส่ไว้ระหว่างช่องว่างที่วางถ้วยชามเช่นเดียวกับช้อนสำหรับ กล่องข้าวหรือจานข้าวเหนียวนั้น จะวางกับพื้นและวางในลักษณะสับทุก ๆ สองคนที่นั่งล้อมวงอยู่ แต่ทั้งนี้อาจจะใช้กล่องข้าวหรือจานข้าวสำหรับแต่ละคนก็ได้

        มารยาทและแบบแผนในรับประทานอาหาร เมื่อประกอบอาหารเสร็จและจัดวางอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะยกขันโตกและกล่องข้าวมาวางยังสถานที่ที่จะรับประทานอาหาร เช่น ชานเรือนหรือ เติน ซึ่งจะมีการปูเสื่อไว้ก่อน อาจมีการเตรียมน้ำล้างมือและผ้าเช็ดไว้ให้ที่นั่นด้วย จากนั้นจึงเรียกสมาชิก ครอบครัวมากินข้าวพร้อมกัน โดยจะนั่งล้อมวงรอบขันโตก ซึ่งมักจะนั่งตามตำแหน่งอย่างที่เคยกันมาเหมือนทุกวันโดยพ่อและแม่จะนั่งติด กันหรือตรงข้ามกัน เวลารับประทานจะให้พ่อแม่หรือผู้อาวุโสที่สุดในครอบครัวลงมือรับประทานก่อน เป็นคนแรก จากนั้นลูก ๆ หรือผู้อ่อนอาวุโสจึงจะลงมือรับประทานตามมา ซึ่งธรรมเนียมเช่นนี้ได้ปฏิบัติกัน มานาน ดังจะปรากฏในชาดกล้านนาหลายเรื่องเช่น เรื่องฮีตคลองโบราณ เรื่องหงส์ผาคำ เรื่อง หงส์หิน เรื่องโปราพญาบ่าวน้อย ซึ่งวรรณกรรมเหล่านี้ได้กล่าวถึงการรับประทานอาหารที่เด็กๆ ต้องรอผู้ใหญ่ลงมือรับประทานก่อน ตนเองจึงจะรับประทานได้ ถือเป็นการให้ความเคารพแก่ผู้มีอาวุโสสูงกว่า
       ก่อนลงมือรับประทานอาหาร หากมีอาหารจำพวกมีน้ำมัน เช่น ทอด หรือผัด ก็มักจะหยิบส่วนที่เป็นน้ำมันมาทามือก่อน เพื่อไม่ให้ข้าวเหนียวติดมือ
วิธีการนั่งรับประทานอาหาร นั้นก็มีหลายลักษณะ ได้แก่

- นั่งขดถวาย คือการนั่งขัดสมาธิ ถือเป็นการนั่งแบบสุภาพสำหรับผู้ชาย พระสงฆ์ หรือเจ้านาย จึงมีคำพังเพยกล่าวถึงการนั่งกินข้าวแบบนี้ว่า “ยามเยียะการ แฮงอย่างงัวอย่างควาย ยามกินเข้าขดถวายอย่างท้าว”(ยามทำงานก็ให้ทำอย่างทุ่มเท ยามรับประทานอาหารก็ให้มีรู้สึกสบายและภาคภูมิในตนเองเหมือนเป็นเจ้านาย) แต่สำหรับผู้หญิงแล้วการนั่งขดถวายถือว่าไม่สุภาพเรียบร้อย
- นั่งหม้อแหม้ หรือ ป้อหละแหม้ คือการนั่งพับเพียบ ถือเป็นท่านั่งที่สุภาพสำหรับผู้หญิง ซึ่งผู้ชายจะนั่งท่านี้ก็ต่อเมื่อทำพิธีทางศาสนาหรือเข้าเฝ้าเจ้านายเท่า นั้น
- นั่งหย่องเขาะ หย่องเหยาะหรือ ข่องเหยาะ คือ การนั่งยอง ๆ ลักษณะนี้พวกผู้ชายหรือเด็ก ในวัยเดียวกันนิยมนั่งรับประทานอาหารเพราะไม่กินที่ล้อมวงกัน หรือใช้นั่งในสถานที่ที่พื้นไม่สะอาดหรือราบเรียบพอที่จะนั่งขัดสมาธิหรือ นั่งพับเพียบได้ นอกจากนี้การนั่งท่านี้ยังมีความคล่องตัวสูงเวลาเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมา จะสามารถลุกขึ้นได้ทันที แต่ท่านี้ก็ไม่นิยมนั่งในที่สาธารณะเพราะถือว่าไม่สุภาพ
- นั่งปกหัวเข่า คือการนั่งชันเข่า มักพบในผู้สูงอายุ อาจเพราะเป็นท่าที่สบาย ไม่เมื่อยขบเท่านั่งการนั่งพับเพียบหรือขัดสมาธิ
- นั่งเหยียดแข้ง พบในคนแก่ที่มีอาการปวดเมื่อยได้ง่าย ซึ่งส่วนมากจะไม่นิยมกันหากไม่มีความจำเป็นจริง ๆ เพราะถือว่าไม่สุภาพ

         วิธีการรับประทานข้าวนึ่ง การรับประทานข้าวนึ่งหรือข้าวเหนียว จะรับประทานด้วยมือเป็นหลัก โดยจะใช้มือใดมือหนึ่ง (ที่ใกล้กับกล่องข้าว) ฅดเข้า คือคดข้าวมาไว้กำมือหนึ่ง และกำไว้ในมือที่ไม่ถนัด แล้วใช้มือที่ถนัดบิดข้าวเหนียวขนาดพอดีคำ ปั้นเป็นก้อนกลม เพื่อไม่ให้ข้าวยุ่ยแตกออกจากกันเมื่อจิ้มน้ำแกง บางคนอาจใช้หัวแม่มือหยักลงไปบนก้อนข้าวนั้นให้เป็นหลุมเล็กน้อย ซึ่งเรียกว่าหักหน้าวอก เพื่อวักอาหารได้มากขึ้น หากรับประทานฝืดคออาจใช้ช้อนตักน้ำแกงซด หรือใช้ก้อนข้าวจุ่มน้ำแกงให้ชุ่มพอประมาณใส่ปากกิน ก็ได้

         สิ่งที่ไม่ควรกระทำในระหว่างรับประทานอาหาร การรับประทานอาหารนั้นมารยาทถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เนื่องจากเป็นการนั่งอยู่กันพร้อมหน้าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ ถือเป็นแบบอย่างที่ดีของเด็ก ส่วนเด็กต้องให้ความเคารพผู้ใหญ่ อีกประการหนึ่งคือ ข้าวปลาอาหาร ถือเป็นสิ่งมีพระคุณที่หล่อเลี้ยงชีวิตต้องให้ความเคารพด้วยเช่นกัน ดังนั้นในการรับประทานอาหารจึงมี
ข้อห้าม หรือสิ่งที่ไม่ควรกระทำ คือ

- ไม่ผายลม ขณะรับประทานอาหาร

- ไม่ถ่มถุย ขณะรับประทานอาหาร

- ไม่กล่าวสิ่งที่น่ารังเกียจ เช่น อุจจาระ เป็นต้น ขณะรับประทานอาหาร

- ไม่เล่นหยอกล้อเล่นกัน ขณะรับประทานอาหาร

- ไม่ทะเลาะกัน ขณะรับประทานอาหาร

- ไม่หัวเราะ ขณะรับประทานอาหาร

- ไม่พูดมาก ดังที่ภาษิตว่า “ดักเมื่อกินเข้า ดักเมื่อเข้านอน” (ดัก-เงียบ, เข้า-ข้าว”)

- ไม่เอาช้อนเคาะกัน ไม่เอาช้อนเคาะถ้วยชามหรือขันโตกให้เกิดเสียงดัง

- ไม่นินทาผู้อื่นในขณะกินข้าว (เชื่อว่าจะทำให้ผู้ถูกนินทาฝันถึงอวัยวะเพศของผู้นินทา)

- ไม่ใช้ช้อนคนแกงหรืออาหารจนหกล้นถ้วย

- ไม่ไซ้หรือตักค้นหากินเฉพาะสิ่งที่ตนเองชอบกินเท่านั้น

- ไม่กินบกจกลง คือ คดข้าวหรือตักกินอาหารเฉพาะตรงกลาง

- ไม่ใช้ปากเล็มหรือเลียข้าวและอาหารที่ติดมือ หรือจูบมือที่เปื้อนอาหาร

- เมื่ออิ่มแล้วไม่บ่นว่า “คัดท้อง-กั๊ดต๊อง” ถือเป็นคนโง่ ไม่รู้จักประมาณตน

- ไม่จกหม้อแกง คือ ไม่แอบกินก่อนหรือลับหลังผู้อื่น โดยตักหรือหยิบกินคาหม้อแกง

         เมื่อผู้ใดรับประทานอาหารอิ่มก่อนก็สามารถลุกขึ้นไปดื่มน้ำได้ เมื่อรับประทานอาหารกันเสร็จเรียบร้อย เด็ก ๆ หรือผู้อ่อนอาวุโสจะเป็นผู้เก็บสำรับอาหาร ข้าวเหนียวที่เหลือกินจะเก็บใส่กล่องข้าว ตามเดิม ไว้รับประทานมื้อต่อไป ส่วนอาหารที่เหลือในชามถ้าเหลือมากจะใช้ฝาชีครอบไว้หรือเก็บไว้ก่อนในตู้กับ ข้าว ปัจจุบันมีตู้เย็นก็เก็บไว้ในตู้เย็น แต่ถ้าเหลือน้อยหรือเป็นเศษอาหารจะนำไปเทใส่ หม้อเข้า-หมู สำหรับให้หมูกินต่อไป เมื่อคนกินข้าวแล้วจึงจะเอาข้าวให้หมากิน
สำหรับผู้ใหญ่ หลังรับประทานอาหารอาจมีการอมเหมี้ยง เคี้ยวหมาก สูบบุรีขี้โย ส่วนอาหารว่างนั้น ตามธรรมเนียมล้านนาแล้วไม่มี แต่อาจมีอาหารกินเล่นในบางครั้ง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและผลผลิตทางการเกษตรของครัวเรือน เช่น ถั่วลิสงต้ม ถั่วเหลืองต้ม มันเทศต้ม ข้าวโพดต้ม มะม่วงสุก เป็นต้น  
 credit : http://bc50-diwatomza.blogspot.com/2010/06/blog-post_30.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น